ชื่อเรื่อง : การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning บูรณาการบนพื้นฐานวัฒนธรรม
วิถีน่าน ในรายวิชาชีววิทยา 3 เรื่อง ระบบหมุนเวียนเลือดและระบบน้ำเหลือง สำหรับ
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม
ผู้วิจัย : นางสาวณีรวัลย์ ไชยวงค์
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
ปีที่วิจัย : ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565
บทคัดย่อ
วิทยาศาสตร์ เป็นกระบวนการหรือวิธีการแสวงหาความรู้ ความจริงจากธรรมชาติอย่างมีระบบเพื่ออธิบายและทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยการสังเกต ทดลอง การวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล มีจิตวิทยาศาสตร์ การจัดการเรียนรู้แบบ Active learning หรือ วิธีการเรียนเชิงรุก เป็นการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนแบบเน้นพัฒนากระบวนการเรียนรู้มีความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ ในด้านการเรียนรู้เพื่อความเข้าใจ และการนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันส่งเสริมให้ ผู้เรียนตื่นตัวต่อการเรียนรู้การกระตือรือร้นด้านการรู้คิดมากกว่าที่ผู้สอนสอน โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียน ลงมือกระทำด้วยตนเองมากกว่าฟังการบรรยายเพียงอย่างเดียว การเรียนการสอนเชิงรุก (Active learning) จึงเป็นการเรียนการสอนที่ช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนมีประสิทธิภาพสูง ผู้เรียนจะมีความพึงพอใจในรูปแบบการเรียนการสอนที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจกรรมลงมือ กระทำ จากการประเมินผลการจัดการเรียนรู้รายวิชาชีววิทยา 3 ในปีการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า ผู้เรียนร้อยละ 9.56 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 65 ซึ่งอยู่ในระดับคุณภาพที่ตํ่ากว่าค่าเป้าหมายที่กำหนด ให้ผู้เรียนร้อยละ 60 ต้องมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 65 ขึ้นไป และจากการประเมินผลการเรียนรู้ เรื่อง ระบบไหลเวียนเลือดและระบบน้ำเหลือง พบว่าผู้เรียนยังมีผลการประเมินอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการจัดการเรียนรู้เรื่องระบบไหลเวียนและระบบน้ำเหลืองยังไม่สามารถทำให้ผู้เรียนมีความรู้และสามารถผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับดีได้ จากปัญหาดังกล่าว ผู้ศึกษาสนใจ ริเริ่ม พัฒนาเทคนิควิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning บูรณาการบนพื้นฐานวัฒนธรรมวิถีน่าน ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติได้ด้วยตนเองเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้ดีขึ้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพของนักเรียน ทำให้การเรียนการสอนในวิชาชีววิทยา 3 บรรลุผลตามวัตถุประสงค์และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น